อยากเป็นแพทย์ จะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

สอบแพทย์

การได้ทำงานหรือทำอาชีพในฝันนั้น ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ใครหลายๆ คนตามหาและตั้งเป็นเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จกันอย่างมากมาย และหนึ่งในอาชีพที่หลายท่านใฝ่ฝันที่จะทำให้ได้นั้นก็คือ… “แพทย์” นั้นเองครับ วันนี้ เราจะมาแบ่งปันความรู้ระดับเบื้องต้นเพื่อที่จะช่วยท่านผู้อ่านที่ “อยากจะเป็นแพทย์” ได้ใช้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวกันครับ จะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น เราไปดูกันเล้ยย!!

อยากเรียนต่อหมอ ควรเรียนสายไหน?

          สำหรับน้อง ๆ ที่ยังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และอยากเรียนต่อหมอ ควรเลือกเรียนต่อแผนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (วิทย์-คณิต) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะจะเน้นการเรียนวิชาสามัญ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ (1) ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา แต่ถ้าเลือกเรียนสายอื่นไปแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลไป แค่อาจจะต้องใช้เวลาอ่านหนังสือ ทบทวนความรู้ หรือเรียนพิเศษเสริมในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงควรเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวิชาความถนัดแพทย์ไว้ด้วย โดยสัดส่วนคะแนนที่ใช้ในการพิจารณามี ดังนี้

คะแนนวิชาสามัญโดย สทศ. 70% ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) 40% คณิตศาสตร์ (1) 20% ภาษาอังกฤษ 20% ภาษาไทย 10% และสังคมศึกษา 10% สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ niets.or.th  

คะแนนวิชาเฉพาะ กสพท หรือวิชาความถนัดแพทย์ 30%

วิชาความถนัดแพทย์ ที่เราต้องทำความเข้าใจ

ก่อนอื่นเลยเรามารู้จักกับ “กสพท” ซึ่งคือชื่อย่อของ “กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย” วิชาเฉพาะ กสพท หรือ วิชาความถนัดแพทย์ คือ ข้อสอบที่จัดทำขึ้นโดยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อใช้วัดทักษะในสายวิชาชีพก่อนเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ รวมถึงเภสัชศาสตร์ แม้จะมีสัดส่วนแค่ 30% แต่ก็ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับรายวิชาอื่น ๆ โดยในปีการศึกษา 2564 จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

การทดสอบศักยภาพในการเรียนรู้ คือ การจับใจความ คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ เชื่อมโยง ความเป็นเหตุเป็นผล และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

2. การประเมินแนวคิดทางจริยธรรม

สิ่งที่ต้องทำ ต้องสอบหากอยากเรียนหมอ

          สำหรับใครที่อยากเรียนต่อหมอควรศึกษาประกาศการรับสมัครในแต่ละปีให้ละเอียด เพราะกำหนดการบางปีอาจเร็ว-ช้าแตกต่างกัน เพื่อกำหนดแนวทางในการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบกัน ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา มีการนำระบบ TCAS (Thai University Center Admission System) มาใช้ในการคัดเลือกผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยใช้คะแนนในการคัดผู้สอบติดจากการสมัคร โดยแบ่งเป็นรอบ ดังนี้

1. รอบที่ 1 Portfolio ไม่มีการสอบ เน้นดูที่ผลงานและความสามารถเป็นหลักตามเกณฑ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย

2. รอบที่ 2 Quota สำหรับนักเรียนในพื้นที่เดียวกับมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเป็นคะแนนสอบกลาง เช่น O-Net 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา คะแนนเฉลี่ยรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 หรือ 300 คะแนนขึ้นไป หรือวิชาสามัญ จัดสอบโดย สทศ. เลือกสอบ 7 วิชา คือ คณิตศาสตร์ (1), ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ซึ่งในแต่ละวิชาต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของคะแนนเต็ม

3. รอบที่ 3 Admission 1 และ 2 เป็นการรับสมัครพร้อมกัน ทั้งโครงการ กสพท, โครงการอื่น ๆ และนักเรียนทั่วไป โดยใช้คะแนนกลาง (O-Net, วิชาสามัญ, GAT/PAT) เป็นเกณฑ์คัดเลือก

Admission 1 ใช้คะแนน O-NET, GAT/PAT, วิชาสามัญ และวิชาเฉพาะ

Admission 2 ใช้คะแนนในชั้นเรียน หรือ GPAX ร่วมกับคะแนน O-NET และ GAT/PAT ด้วย

4. รอบที่ 4 Direct Admission หรือรอบรับตรง เป็นการสอบตรงเข้าโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ที่จัดสอบขึ้นเอง โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานนั้นได้โดยตรง เช่น โครงการ MDX และ MD02 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (คลิก) และการสอบแพทย์

แบบนี้ต้องเตรียมตัวกันเยอะพอสมควรเลยนะครับเนี่ย สุดท้ายนี้เราหวังว่าทุกๆ ท่านที่กำลังมองหาแนวทางในการเตรียมตัวสอบ “แพทย์” จะได้ความรู้กันนะครับ

You Might Also Like